เรื่องที่ไม่ต้องรู้ก็ได้ (แต่รู้ไว้ก็สนุกดี) อีกอย่างของย่านอารีย์-ประดิพัทธ์ คือแถวนี้มีศิลปินนักวาดภาพประกอบเยอะมาก!
เยอะมากขนาดไหน? ก็ขนาดที่เราชักชวนตามตัวมาร่วมกันทำงาน และสร้างคาแร็กเตอร์สนุกๆ ให้กับ #AriAround ในงาน #BKKDW2021 ครั้งนี้ ทั้งกับกิจกรรม AR Experience ที่ชวนคุณไปตามล่าหาน้องๆ ที่กระจายกันอยู่ในจุดสำคัญทั่วทั้งย่านอารีย์-ประดิพัทธ์ และกับฟิลเตอร์ใน Instagram ซึ่งทำให้ทุกที่เป็นพื้นที่อารี(ย์) ไปด้วยกัน
ศิลปินคนแรกที่จะแนะนำในวันนี้ เป็นเจ้าของงานปาร์ตี้หรือกิจกรรมแสบๆ คันๆ ที่ขยันจัดกันในซอยอารีย์สม่ำเสมอ ‘พี่โน้ต Dudesweet’ กับคาแร็กเตอร์ที่ตัดสายสะดือมาจากอารีย์ ซอย 5 สมัยเริ่มต้นทำงานนิตยสาร MTV TRAX ด้วยความที่ต้องการพัฒนาประเด็นวิจารณ์เสียดสีสังคมให้มีน้ำเสียงในเชิงอารมณ์ขัน อย่างที่พี่โน้ตบอกว่า
“จะว่าไป คาแร็กเตอร์ตัวนี้เกิดที่ซอยอารีย์ เพราะว่าตอนนั้นย้ายออกมาจากบ้านเก่าที่อยู่กับเพื่อนๆ มหาลัยในซอยพหลโยธิน 14 เพราะเราอยากยุติชีวิตเด็กมหาลัยแล้ว พอมาเช่าบ้านอยู่ด้วยกัน มันก็ไม่เลิกเป็นเด็กซักที ประกอบกับเริ่มทำงานก็เลยอยากจะอยู่คนเดียว ตอนนั้นประมาณปี 2009 เราก็ไปเจออพาร์ทเมนท์ถูกๆ เพื่อนฝรั่งย้ายออกพอดี ก็เลยอยู่ตรงนั้นเป็นต้นมา”
เพราะอยู่แถวนี้มานานเกินสิบปี ตั้งแต่เพิ่งมีศิลปินรุ่นใหม่มาอยู่ร่วมกันเยอะมากเมื่อสิบปีก่อน รวมทั้งพ่อค้าแม่ค้าที่กลายเป็นคนรู้จักคุ้นหน้าค่าตากัน ชนิดที่ว่าสามารถคุยเรื่องอื่นกันนอกเหนือจากการซื้อแกง อัพเดทเรื่องราวชีวิตกันได้ นี่จึงเป็นความผูกพันที่พี่โน้ตมีต่ออารีย์ยาวนานถึงปัจจุบัน
“ถ้าอนาคตอยากจะเห็นย่านนี้เป็นยังไง ก็อยากให้เป็นเรื่องของการควบคุมพื้นที่ ความสูงของตึก และความหนาแน่นของชุมชนเป็นอย่างแรก เพราะพื้นที่ของย่านถูกดีไซน์มาเพื่ออาคารแนวราบ อย่างซอยเรา เมื่อไหร่ที่มีการขายเกิดขึ้น มันจะตามมาด้วยการเกิดขึ้นของคอนโดเสมอ ซึ่งคนที่ยังอยู่ที่นี่ก็ต้องอยู่ต่อไป แต่พื้นที่เท่าเดิม มีจำนวนคนเพิ่มขึ้น ก็นึกไม่ออกว่าถ้ามีตึกสูงจะวุ่นวายมากขนาดไหน”
“อีกเรื่องนึงคือ อารีย์มีบุคลิกความเป็นชานเมือง คนแถวนี้คุยกันง่าย รู้จักกันหมด แม้แต่คนเก็บขยะก็รู้จักกับคนในละแวกนี้ สิ่งที่อยากเห็นอีกอย่างเลยคือ การจัดการขยะ เพราะพอเรารู้จักกัน เราก็จะเกรงอกเกรงใจกันมากกว่า มันเลยสามารถตกลงกันได้ในบางอย่างที่ทำให้ชุมชนดีขึ้นได้ แล้วถ้ามีใครทำแคมเปญเรื่องนี้ขึ้นมา ช่วยกันแยกขยะเพื่อให้คนเก็บขยะทำงานง่ายขึ้น”