เพราะช่วงนี้ออกไปไหนไม่ได้ เราจึงโทรไปหา ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทราศุ หลังจากอ่าน “วานนี้ที่สุขุมวิท” จบเล่มไปหมาดๆ
“วานนี้ที่สุขุมวิท” เป็นหนังสือที่อ่านสนุกทีเดียว และทำให้คนรุ่นใหม่อย่างเราๆ เห็นภาพกรุงเทพฯ ในอดีต ชัดเจนขึ้นมาก เห็นวิถีชีวิตของวัยรุ่นสมัยก่อนตอนปิดเทอมที่จะ “ทัวร์บ้านเพื่อน” มากกว่าออกไปเที่ยวในเมือง ก็คงเพราะในเมืองมันยังไม่ได้มีอะไรให้เที่ยวเหมือนทุกวันนี้
อาจารย์ธงทอง เกิดเมื่อปี 2498 และมาพักอาศัยอยู่ที่ “บ้านกาติ๊บ” บริวเวณซอยอารีย์ในปัจจุบัน ระหว่างปี 2501 – 2504 เข้าเรียนที่ “โรงเรียนสวนบัว” จนจบ ป. 4 ในปี 2508
“ซอยอารีย์สมัยก่อนเป็นย่านที่อยู่อาศัย แลนด์มาร์คสำคัญของย่านคือตึกสมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย (อาจารย์เรียกว่าโรงพยาบาลปอด) ที่อยู่เลยซอยอารีย์ไปหน่อย (ปัจจุบันอยู่ติดกับสำนักงานตำรวจตระเวนชายแดน) สมัยก่อนซอยราชครูไม่ได้สูงเหมือนแบบนี้นะ ฝนตกหนักน้ำก็ท่วมซอย ถนนพหลโยธินก็ออกจะมืดๆ เพราะมีต้นไม้ขึ้นสองฝั่งถนน”.
อีกความทรงจำที่ชัดเจนของอาจารย์ธงทอง คือการรับเสด็จริมถนนพหลโยธิน
“สมัยก่อนถนนพหลโยธิน เป็นถนนเส้นเดียวที่มุ่งหน้าไปสนามบินดอนเมือง ดังนั้น ใครจะไปจะมาจากเมืองนอก จะมีคนมาแจกธงให้เด็กๆ โรงเรียนสวนบัวไปโบกธงริมถนนอยู่บ่อยๆ เราก็จะเดินแถวออกมาจากโรงเรียนสวนบัว เลี้ยวขวาไปทางซอยบ้านราชครู แล้วก็เดินทะลุบ้านชุณหะวัณ ออกไปรอรับเสด็จตรงพหลโยธิน ซอย 3”
ได้ฟังแค่นี้ก็สนุกแล้ว ถ้าลูกเพจ AriAround คนไหนมีเรื่องราวของย่านในอดีต ขอเชิญมาแชร์มา comment กันได้เลยนะครับ