Home History จาก “กาติ๊บ” สู่ “อารีย์” (3)

จาก “กาติ๊บ” สู่ “อารีย์” (3)

4367
0

คอลัมน์ “มองบ้านมองเมือง” โดยอาจารย์ ปริญญา ตรีน้อยใส ได้เล่าความเป็นมาของซอยอารีย์ไว้ว่า หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ราวปี พ.ศ. 2479 นายอี แอม กาติ๊บ และครอบครัว (ส่วนหนึ่ง) ได้ย้ายเข้ามาอาศัยอยู่ที่ถนนพหลโยธิน บริเวณซอยอารีย์ในปัจจุบัน ซึ่งนายห้างกาติ๊บได้ซื้อที่ไว้ก่อนหน้านั้น (อ้างอิง matichonweekly.com/column/article_355187 สืบค้นเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2564) 

อย่างไรก็ดี กับข้อมูลอีกส่วนในบทความที่ระบุว่าชื่อของซอยอารีย์นั้นแปลงมาจาก ชื่อของ ฟาซาลอาลี กาติ๊บ ซึ่งเป็นหลานชายของนายห้างนั้นคลาดเคลื่อนไปจากความจริงและข้อมูลที่ รองศาสตราจารย์ ดร. อดิศรา กาติ๊บ ทายาทของนายห้างกาติ๊บบอกกับ AriAround 

ฟาซาลอาลี เป็นชื่อภาษาอาหรับของคุณพ่อของอาจารย์ค่ะ (ชื่อไทยคือ ประยูร กาติ๊บ) คุณทวดของอาจารย์คือ นายห้างอีแอม กาติ๊บ (E.M.Katib) ชื่อของคุณพ่อถูกตั้งเป็นชื่อตึกที่สะพานช้างโรงสี อันเป็นที่ตั้งของห้าง อีแอม กาติ๊บ (เปิดขายเครื่องแกวเจียระไนและเครื่องกระเบื้องชั้นดี นำข้าจากยุโรปตั้งแต่รัชกาลที่ 5) เพื่อเป็นเกียรติแก่คุณพ่อผู้เป็นหลานชายของนายห้างกาติ๊บ”

“แต่“อารีย์” ที่สะกดด้วย ร-เรือ และมี –ย์ ซึ่งเป็นชื่อซอยนั้น เป็นชื่อไทยของนายห้างกาติ๊บ ท่านเป็นชาวต่างชาติ เดินทางเข้ามาในประเทศไทยสมัยรัชกาลที่ 5 โดยเมื่อตั้งรกรากในประเทศไทยแล้ว ท่านจึงตัดสินใจเปลี่ยนชื่อเป็นชื่อไทย ซึ่งก็คือ “อารีย์” นั่นเอง

นี่คือที่มาของชื่อ “อารีย์” ผู้เขียนยังไม่มีข้อมูลชัดๆ ว่าช่วงปีที่นายห้างเปลี่ยนชื่อซอยจากกาติ๊บมาเป็นชื่ออารีย์นั้นคือปีอะไร รู้แค่ว่านายห้างใช้ชื่ออารีย์มาตั้งแต่ก่อนปี พ.ศ. 2500 แล้วแน่ๆ (เพราะนายห้างเสียชีวิตตั้งแต่อาจารย์อดิศรายังไม่เกิด) เรื่องราวยังซับซ้อนมากขึ้นกว่านั้น เมื่อภายหลังนายห้างเปลี่ยนนามสกุลจากกาติ๊บ เป็น “สุขวิรัชย์” “ปัจจุบันที่หลุมฝังศพของท่านก็จะใช้ชื่อเป็น อารีย์ สุขวิรัชย์” อาจารย์อดิศรา กล่าว

นายห้าง อีแอม กาติ๊บ หรือ อารีย์ สุขวิรัชย์ ภายถ่ายโดย รองศาสตราจารย์ ดร. อดิศรา กาติ๊บ

สมัยก่อนนายห้างฯ มีพื้นที่ในย่านนี้เกือบๆ 100 ไร่ คิดเป็นตารางวาก็ประมาณ 40,000 ตารางวา (แน่นอนว่าคงเป็นทุ่งกว้างใหญ่ไพศาล) ซึ่งหลังจากที่ทยอยแบ่งขายจนหมดนายห้างก็ย้ายไปพักอาศัยอยู่ที่ย่านราชวัตร 

เราคงต้องรอให้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 คลี่คลายลงไปมากกว่านี้จึงจะไปค้นคว้าต่อได้ว่าซอยกาติ๊บเปลี่ยนชื่อเป็นซอยอารีย์ตั้งแต่ปีไหน และที่ดินของนายห้างจริงๆ แล้วมีมากน้อยเพียงใด แต่ที่แน่ๆ จากข้อมูลที่กล่าวมานี้ ทำให้เราตอบได้หนึ่งประเด็น เรื่องแรกคือ ชื่อซอย อารีย์สัมพันธ์ หรือการเชื่อมซอยอารีย์เข้ากับถนนพระราม 6 (บริเวณกรมประชาสัมพันธ์) ตัองเกิดขึ้นภายหลังจากที่นายห้างตัดสินใจเปลี่ยนชื่อซอยแล้วแน่ๆ 

ข้อมูลทั้งหมดนี้เขียนขึ้นจากการโทรศัพท์สัมภาษณ์อาจารย์อดิศรา ระหว่างเดือน กุมภาพันธ์ – มิถุนายน 2021 ผู้เขียนขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูงในความเอื้อเฟื้อข้อมูลของอาจารย์มา ณ ที่นี้

นอกจากนั้น อาจารย์อดิศรายังบอกกับผู้เขียนอีกว่า เนื่องจากมีนักวิชาการหลายท่านได้ขอร้องให้อาจารย์อดิศราเขียนบทความถึงครอบครัวกาติ๊บ ตึกสะพานช้างโรงสี และซอยอารีย์ ระหว่างนี้อาจารย์กำลังอยู่ในช่วงการค้นคว้าและรวบรวมข้อมูล ผู้เขียนเชื่อว่า เมื่อบทความดังกล่าวถูกเผยแพร่ในทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษ แล้วจะเป็นประโยชน์ต่อการสืบค้นประวัติศาสตร์ของคนรุ่นหลังเป็นอย่างมาก

รองศาสตราจารย์ ดร. อดิศรา กาติ๊บ ถ่ายภาพกับตึกฟาซาล สะพานช้างโรงสี