“ไปพหลโยธิน 8 ครับ”
“อยู่ช่วงไหนนะน้อง เลยไปทางสะพานควายหรือเปล่า?”
“ซอยสายลมนะครับพี่”
“โอเค ทำไมไม่บอกแต่แรกล่ะน้อง”
ผมเคยมี dialogue ประมาณนี้บ่อยทีเดียวเวลาที่โบกแท็กซี่กลับบ้าน จนมารู้ทีหลังว่าที่แทกซี่รู้จักซอยนี้ในชื่อ “สายลม” มากกว่าก็เพราะว่าสมัยก่อนมันมี “ร้านลาบ” เจ้าดัง (ในหมู่คนขับแท็กซี่) เปิดอยู่หน้าปากซอย!
ซอยสายลมเดิมทีเป็นแปลงผักที่ถูกจัดสรรโดยตระกูลไทยวัฒน์ คุณปู่ของผมกับเพื่อน มาซื้อที่ดินในซอยสายลมตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่บ้านไม่ได้มีภาพถ่ายเก่า (หรืออาจจะมีแต่ยังหาไม่เจอ) แต่พ่อเล่าให้ฟังว่าถนนซอยสายลมก่อนปี พ.ศ. 2500 ยังเป็นดินแดง และทุกๆ ฤดูฝนคุณปู่จะต้องเดินเท้าเปล่าลุยโคลนออกไปหน้าปากซอย ไปล้างเท้าริมถนนใหญ่ทุกเช้าก่อนไปทำงาน
แต่ก่อนหน้าปากซอยเป็นตึกแถวและมีปั้ม ESSO อยู่ตรงกันข้าม เรื่องเล่าประจำซอยอีกเรื่องคือสมัยก่อนในซอยสายลมเป็นที่ตั้งของ “โรงเรียนกรมไปรษณีย์โทรเลข” (ย้ายมาในปี พ.ศ. 2506 ปัจจุบันเป็นที่ทำการของ กสทช.) กับ “โรงเรียนอาชีวะสายลม” (กระทรวงศึกษาสั่งปิดไปในปี พ.ศ. 2526 ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของอาคารมนริริน) สองโรงเรียนนี้ตีกันเป็นประจำ โดยเฉพาะฝั่งอาชีวะสายลมที่ขึ้นชื่อเรื่องความโหด เก๋าไม่เก๋ากินเกาเหลาไม่จ่าย ขึ้นรถเมล์แล้วกระเป๋าไม่กล้าเก็บตังค์ ปาระเบิดขวดกันเป็นเรื่องปกติ แถมยังมีสะเก็ดระเบิดกระเด็นเข้าไปในบ้านคนในซอยด้วย จนทางโรงเรียนต้องเชิญทหารมาเป็นอาจารย์ฝ่ายปกครองเลยทีเดียว
โรงเรียนอาชีวะสายลม สถาปนาในวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2516 และนี่น่าจะเป็นหมุดหมาย ที่ทำให้ผู้เขียนพอจะประมาณปีที่คุณปู่ตั้งชื่อซอยได้คร่าวๆ ว่าคงเป็นก่อนปี พ.ศ. 2516 แน่ๆ พ่อเล่าว่ามีเหตการณ์ระทึกใจเล็กน้อยในวันที่คุณปู่ผมเสนอให้ตั้งชื่อซอยว่า “สายลม” แทนที่จะใช้ชื่อ “ไทยวัฒน์” ตามตระกูลเจ้าของที่ดินเดิม นายร้อยท่านหนึ่งควักปืนขึ้นมาตบโต๊ะเสียงดังทันทีที่เสียงส่วนใหญ่ของชาวซอยสายลมประมาณ 8 บ้านดั้งเดิม โหวตชื่อ “สายลม” มากกว่า คุณปู่ผมเป็นข้าราชการกระทรวงพาณิชย์ แกได้ธรรมศาสตร์บัณฑิตรุ่นแรกๆ (ซึ่งก็คือเรียนกฎหมายนั่นแหล่ะ) นั่นแหล่ะ ปรากฏว่าแกไม่กลัวปืน เลยเอ่ยไปในที่ประชุมว่า “ดีเลยครับ ผมจะได้จดชื่อท่านไปร้องเรียนทางต้นสังกัด” เป็นอันว่านับจากวันนั้นมา พหลโยธิน 8 เลยได้ชื่อว่าซอยสายลมครับ
ลืมบอกไปอีกเรื่องคือที่คุณปู่นึกถึงชื่อ “สายลม” นั้น ก็ด้วยเหตุผลง่ายๆ ว่าแต่ก่อนซอยนี้ลมแรงมาก!