“ป้อมปราการแห่งสนามเป้า“ คอนเซ็ปต์การออกแบบธนาคารทหารไทย สาขาสนามเป้า แห่งย่านอารีย์ ล้อไปกับความเป็นธนาคารทหารที่ คุณชัชวาลย์ พริ้งพวงแก้ว แห่ง Design 103 international ให้สัมภาษณ์กับ AriAround ว่า เขาได้ไอเดียมาจากคำว่า “Ministry of Defence”
TEXT & PHOTO BY NAPAT CHARITBUTRA
อาคารโมเดิร์นยุค 80s
ยอมรับว่าเราก็หวาดเสียวไม่น้อยว่าอาคารเก่าแก่สีขาวหลังนี้ที่ตั้งอยู่ริมถนนพหลโยธิน ตรงข้ามซอยราชครู (พหลโยธิน 5) จะถูกทุบเหมือนกับตึกโมเดิร์นอื่นๆ ในกรุงเทพฯ เมื่อมีโครงการ mix-used ขนาดใหญ่ผุดขึ้นบนที่ดินว่างด้านหลัง
พ่อแม่เล่าให้ฟังว่าเห็นตึกนี้ตั้งแต่วัยรุ่น “ที่จำได้ดีเพราะว่า ตอนก่อสร้างมีแผ่นสังกะสีปะเต็มตึกไปไปหมด” อาคารธนาคารทหารไทย สาขาสนามเป้า สร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2518 (ค.ศ. 1975) เดิมทีเป็นอาคารคอนกรีตเปลือยผิวลูกฟูกก่อนที่จะถูกทาสีขาวทับในภายหลังโดยถูกใช้งานมาอย่างต่อเนื่องถึง 47 ปี ตั้งแต่ในยุคธนาคารทหารไทยโลโก้เดิม ยุครีแบรนด์มาเป็น TMB และ TMB ธนชาต โลโก้ใหม่ ttb ในปัจจุบัน
1 ใน 34 สาขาแรก ของธนาคารทหารไทย ในประเทศไทย
ย้อนกลับไปในเวลาที่มันถูกสร้างขึ้นเมื่อครึ่งหลังของทศวรรษที่ 2510 ตอนนั้นเป็นช่วงเวลาที่ธนาคารทหารไทยต้องรับมือกับวิกฤตความเชื่อมั่นจากประชาชน ทั้งจากสถานการณ์ทางการเมือง ที่คณะรัฐบาลมีมติให้หน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจถอนเงินไปเป็นจำนวนมาก (รวมถึงชื่อเสียงไม่ค่อยดีสักเท่าไหร่หลังการล้อมปราบนักศึกษาในเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ) ธนาคารทหารไทยจำต้องหันมาให้บริการประชาชนทั่วไปมากขึ้น จากที่แต่ก่อนนั้นเน้นให้บริการเฉพาะ “ลูกค้ารายใหญ่” เรียกได้ว่า แต่ก่อนมีลูกค้าน้อยแต่เป็นลูกค้ารายใหญ่ยอดเงินสูงๆ ทั้งนั้น
“นับว่าคนหนุ่มนิยมไปใช้บริการของธนาคารกรุงเทพฯ และคนแก่นิยมใช้บริการธนาคารไทยพาณิชย์ โดยเฉพาะคนกลุ่มใช้แรงงานแทบจะไม่รู้จักธนาคารทหารไทยเลย”
การประชาสัมพันธ์ เพื่อการสร้างภาพพจน์ของธนาคารทหารไทย จำกัด (2527) โดย สุรางค์ กุศลนำสนอง
นี่นำไปสู่การปรับภาพลักษ์องค์กรครั้งใหญ่ อันเป็นที่มาของสโลแกนธนาคารในขณะนั้นว่า “ธนาคารทหารไทยรับใช้ประชาชน” อย่างไรก็ดี ช่วงเวลานั้นเองกิจการของธนาคารก็ได้ขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งมี 34 สาขา ทั่วประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2519 และธนาคารทหารไทย สาขาสนามเป้า แห่งนี้ที่เปิดทำการในปี พ.ศ. 2518 ก็คือ 1 ใน 34 สาขาแรกของธนาคารหทารไทยนั่นเอง
ป้อมปราการแห่งสนามเป้า
อาจฟังดูเว่อๆ แต่ คุณชัชวาลย์ พริ้งพวงแก้ว ผู้ก่อตั้งบริษัทออกแบบสถาปัตยกรรม ดีไซน์ 103 จำกัด (ปัจจุบันคือ Design 103 International) บอกกับ AriAround ว่าคอนเซ็ปต์การออกแบบอาคารหลังนี้คือ “ป้อมปราการ”
“สนามเป้ามีค่ายทหารอยู่ แล้วนี่ก็เป็นธนาคารทหารไทย ผมก็ไปคิดถึงคีย์เวิร์ดสำคัญของ Ministry of Defense หรือกระทรวงกลาโหม คือคำว่า “defense” คือการป้องกัน สิ่งที่น่าจะพูดได้ดีที่สุดก็คือต้องเป็น “ป้อมปราการ”
ชัชวาลย์ พริ้งพวงแก้ว
ย้อนกลับไปเกือบ 50 ปีก่อน ราวๆ ปี พ.ศ. 2516 (ค.ศ. 1973) คุณชัชวาลย์ พริ้งพวงแก้ว สถาปนิกหนุ่มไฟแรงที่มีประสบการณ์ทำงานกับบริษัทออกแบบต่างชาติ Louis Berger ได้รับการชักชวนจาก พลเอกกฤษณ์ สีวะรา ผู้บัญชาการทหารบก และประธานกรรมการธนาคารทหารไทยในขณะนั้นให้รู้จักกับ คุณสุขุม นวพันธ์ ผู้จัดการธนาคาร “พอผมเสนอคอนเซ็ปต์นี้ไป เขาก็ชอบเลย”
ดีไซน์ 103 ออกแบบธนาคารทหารไทยมากกว่า 1 สาขา แต่ไม่มีสาขาใดที่ดูเป็นป้อมปราการเท่าสาขาสนามเป้า “มันจะมีความ solid ซึ่งมีความหมายของคำว่า defence ซ่อนอยู่ในนั้น” คุณชัชวาลย์ กล่าว
ก็เลยออกมาเป็น “ป้อม” อย่างที่เห็น ไอเดียเรื่อง “การป้องกัน” ตอบโจทย์การเป็นธนาคารแสตนด์อโลนริมถนนพหลโยธิน ที่คุณชัชวาลย์บอกกับ AriAround ว่าตอนที่เขามาดู site ปี พ.ศ. 2516 แถวนี้ยังไม่มีอะไรเลย “ยังมีทุ่งนาอยู่เลย สี่แยกสะพานควายนี่คือบ้านนอกอย่างมหาศาล” ช่องหน้าต่างที่เป็นโพรงลึกเข้าไปเหมือนบังเกอร์ รวมถึงลักษณะหลังคา flat roof มีขึ้นเพื่อความปลอดภัยล้วนๆ
requirement หลักๆ ที่ผู้ออกแบบได้รับจากธนาคารคือ ต้องไม่มีใครสามารถโจรกรรมทรัพย์สินขณะที่ธนาคารปิดทำการ “ก็ตรงไปตรงมาคือ หลังคาแบบ flat roof มันเจาะเข้ามาได้ยากกว่าหลังคาลอนไงครับ” คุณชัชวาลย์ เล่าต่ออีกว่าความขรุขระของผิวอาคารเป็นผลมาจากไม้แบบหล่อคอนกรีตที่ทำจากแท่งไม้แดงที่ถูกเหลาเป็นแท่งๆ พอถอดไม้แบบก็ทุบอีกครั้งเพื่อให้มันหยาบๆ สมกับเป็นป้อมปราการ
ตึกคอนกรีตลูกฟูก
นอกไปจากเหตุผลด้านการใช้งาน ผนังคอนกรีตเปลือยยังเป็น movement ทางสถาปัตยกรรมที่สำคัญในยุคดังกล่าวด้วย AriAround สอบถามไปยังสถาปนิกอาวุโสท่านหนึ่งที่ไม่ประสงค์ออกนาม และได้ข้อมูลว่า สมัยนั้น (40 ปี ที่แล้ว) การทำผนังคอนกรีตเปลือยเป็นเรื่องท้าทายมาก แต่สถาปนิกจำนวนไม่น้อยเลือกที่จะลองของเทคนิคที่ว่านี้
ส่วนหนึ่งเป็นเพราะอิทธิพลจากงานออกแบบของ Le Corbusier (1887-1965), Walter Gropius (1883 – 1969) และ Paul Rudolph (1918 – 1997) “สถาปนิกรุ่นนั้น พอเรียนจบจากเมืองนอกกลับมาทำงานในประเทศไทยก็อยากจะทำบ้าง” สถาปนิกท่านนี้ยังกล่าวต่ออีกว่า ประเด็นก็คือคอนกรีตเปลือยผิวเรียบมันทำยากมาก หลายๆ โปรเจ็คต์ทำเสร็จแล้วผิวคอนกรีตไม่เรียบ หรือมีรอยด่าง การทำพื้นผิวหยาบๆ มันเป็นทางออกเชิงการออกแบบที่ดี ตัดปัญหาไปได้เยอะ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดๆ คือ อาคารสมาคมศิษย์เก่าจุฬา ที่ออกแบบโดย เจน สกลธนารักษ์ (ผู้ออกแบบ อาคาร 5 สมาคมปราบวัณโรค)
ธนาคารฝากเงินของครอบครัวทหารย่านอารีย์
ลองนึกภาพว่าในอดีตลูกค้าของธนาคารทหารไทย สาขาสนามเป้า จะเป็นใครได้บ้าง? พอเดากันได้ไหมครับ? ถ้าเดาไม่ออกเราขอให้ลองเดินเข้าไปในซอยราชครู!
ก็อย่างที่หลายๆ คนรู้ว่า ย่านอารีย์เป็นถิ่นที่มีบ้านพักนายทหารระดับสูงอยู่มากมาย ตำแหน่งที่ตั้งของธนาคารทหารไทยสาขานี้เรียกได้ว่าตั้งอยู่ใจกลางกลุ่มลูกค้าของธนาคารเลยก็ว่าได้ ไม่ว่าจะใกล้กับ กองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ฯ (สนามเป้า) กองพันที่ 1 กรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ (บ้านพักประยุทธ์) และที่สำคัญที่สุดในยุคสมัยนั้นก็คือบ้านพักของ พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ ในซอยราชครู
เรียกได้ว่าลูกค้าสำคัญๆ ของธนาคารมีบ้านอยู่รายรอบธนาคารสาขานี้เต็มไปหมด
รายการอ้างอิง
- การประชาสัมพันธ์ เพื่อการสร้างภาพพจน์ของธนาคารทหารไทย จำกัด (2527) โดย สุรางค์ กุศลนำสนอง
- สื่อเพื่อการประชาสัมพันธ์ ของธนาคารทหารไทย จำกัด (2526) โดย ชลธิชา ตั้งใจในธรรม
[…] is a translated article from a Thai article by AriAround’s interview with Chachawal Pringpuangkeo, the great mind behind Design 103 […]
Comments are closed.