ทุกคนรู้ว่าคาเฟ่ Beaker and Bitter ในซอยสายลม 1 เคยเป็นโรงงานยามาก่อน แต่ AriAround มั่นใจว่าไม่มีใครรู้มาก่อนว่าที่นี่มีแท้งค์น้ำสูง 9 ชั้น สูงขนาดไหนนะเหรอ? ก็ขนาดที่มองเห็นจากสะพานควาย !

“อากงท่านเป็นลูกหลานคนจีนที่หัวก้าวหน้ามากครับ ท่านเคยทำงานเป็นตัวแทนจัดจำหน่ายยา เดินทางไปทั่วประเทศไทยจนตั้งตัวและตั้งใจเปิดโรงงานยาเป็นของตัวเองที่นี่ เมื่อปี พ.ศ. 2510” หมอบิ้วด์ นายแพทย์ภีมณพัชญ์ ธนชาญวิศิษฐ์ บอกกับ AriAround ว่า ก่อนเปิดโรงงานยา ครอบครัวอาศัยอยู่ในละแวกนี้มาก่อนแล้วที่ซอยกาญจนาคม (พหลโยธินซอย 2) 

คอนเซ็ปต์ในการสร้างโรงงานในบริเวณบ้านของอากง ไชยพงษ์ ธนชาญวิศิษฐ์ (ชื่อเดิม – เกียรติ เจริญเวชพิพัฒน์) คือ“เดินข้ามถนนมาทำงาน” 

“ปี พ.ศ. 2510 มีการเปลี่ยนแปลงพระราชบัญญัติยา (พรบ.ยา) ทำให้โรงงานยาเก่าไม่ได้มาตรฐาน ครอบครัวจึงย้ายมาสร้างโรงงานใหม่บนพื้นที่ตรงนี้ครับ” โรงงานนิวยอร์ค เคมีเกิ้ล เมื่อสร้างแล้วเสร็จยังเป็นตัวอย่างโรงงานที่ทาง อย. แนะนำให้บริษัทอื่นมาดูแบบด้วย อย่างไรก็ดี ด้วยกำลังการผลิต ปริมาณงานที่แตกต่างกัน โรงงานเหล่านั้นขยับขยายปรับแบบไปได้เรื่อยๆ แต่ในกรณีของนิวยอร์ค เคมีเกิ้ลนั้นมีข้อจำกัดเรื่องโครงสร้าง

“เราชื่นชอบความงามของโครงสร้างหลักครับ เราพยายามปรับให้ตรงตามกฎระเบียบใหม่ๆ ที่ปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา แต่เมื่อถึงเวลาหนึ่งสิ่งที่เคยดีที่สุดก็กลายเป็นอดีต” 

องค์ประกอบอาคาร / ไอเท็มในร้าน Beaker & Bitter ที่บอกเล่าเรื่องราวในอดีตของสถานที่แห่งนี้ได้เป็นอย่างดี

ปัจจุบัน พื้นที่โรงงานยาถูกเปลี่ยนการใช้งานเป็นคาเฟ่ Beaker and Bitter แล้ว แต่หมอบิ้วด์ยังเก็บรักษาร่องรอยความรุ่งเรืองของนิวยอร์ค เคมีเกิ้ล เอาไว้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ – โครงสร้างโรงงาน บันไดวน ป้ายห้อง พื้นที่โรงงานกลายมาเป็นพื้นที่ co-working space คอมพิว์เตอร์รุ่น Corona (ชื่อน่ากลัวมาก) ถังสารเคมี นาฬิกาของสมนาคุณ ขวดยา ฯลฯ ถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นว่ากรอบหน้าต่างไม้นั้นถูกทาสีเงินทับจนมองไกลๆ แทบจะเหมือนกรอบอะลูมิเนียม

“โรงงานสร้างมา 50 ปีแล้ว ‘ไม้’ เคยเป็นวัสดุที่ดีที่สุดในสมัยนึง พอเวลาผ่านไปเขาห้ามใช้ไม้ภายในโรงงานเราก็พยายามปรับตัว แต่ปัจจุบันมาตรฐานโรงงานยาสมัยใหม่ถูกกำหนดไว้สูงมาก จนถ้านิวยอร์ค เคมีเกิ้ล จะตามให้ทันคงต้องทุบตึกทิ้งแล้วสร้างใหม่ ซึ่งผมในฐานะรุ่นที่ 3 มองว่าได้ไม่คุ้มเสีย” 

เครื่องมือเครื่องใช้เดิมของโรงงาน ที่ถูกจัดเก็บ รวบรวม และจัดแสดง

ที่ว่ามานี้ทำให้ Bitter and Beaker แทบจะเป็นพิพิธภัณฑ์ จับอะไรในคาเฟ่ก็มีเรื่องราวติดมือขึ้นมา การเปลี่ยนโรงงานยามาเป็นพื้นที่กึ่งสาธารณะแบบนี้ยังเป็นการเปิดโอกาสให้คนทั่วไปได้เข้าถึงตัวประวัติศาสตร์เหล่านี้ด้วย AriAround ขอชื่นชมหมอบิ้วด์ และเคนนี่-เขม อินทรรักษ์ ที่มองเห็นคุณค่าของสิ่งเหล่านี้อย่างใจจริง 

บันไดวนบริเวณกึ่งกลางพื้นที่ องค์ประกอบที่สร้างความน่าสนใจให้กับสเปซของคาเฟ่ Beaker and Bitter

แล้วที่นี่มันเป็นแลนด์มาร์คยังไงล่ะ? (ถ้า) อ่านมาถึงตรงนี้หลายคนคงสงสัยเล็กน้อยถึงปานกลาง ว่าแล้วก็ถึอโอกาสพูดถึงหลักเกณฑ์ของ AriTimes เสียหน่อย ว่าอะไรเป็นอะไรไม่เป็น “แลนด์มาร์คที่ถูกลืม” 

สำหรับผมแลนด์มาร์คที่ถูกลืมคืออาคาร / สถานที่ / สิ่งปลุกสร้าง / วัตถุ ฯลฯ (วันนึงผมอาจจะเขียนถึงก้อนหินก็ได้) ที่เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน แต่เราไม่รู้ “ความพิเศษ” ของสิ่งเหล่านั้น และด้วยเหตุนี้เอง นิวยอร์ค เคมีเกิ้ล จึงเข้าข่ายเป็นแลนด์มาร์คที่ถูกลืมสำหรับ AriTimes อย่างเต็มประตู เพราะที่ผ่านมาเกือบตลอด 30 ปี ผมไมเคยมองเห็น แทงค์น้ำสูง 9 ชั้น ที่ตั้งอยู่ทนโท่ดังสัญลักษ์ความรุ่งเรืองจนถึงขีดสุดของ นิวยอร์ค เคมีเกิ้ล เลยสักครั้ง

(ขวา) อาคารที่ทำหน้าที่เป็นทางเชื่อมระหว่าง ตึก 6 ชั้น ตึก 9 ชั้น และบ้านพักปัจจุบันใช้งานเป็นห้องพระ (ซ้าย) detial ของรั้วระเบียงทำจากท่อเหล็ก ที่มีฟังก์ชั่นเป็นท่อส่งน้ำไปในตัว

“ไหนแท้งค์น้ำวะ?” ผมคิดในใจตอนนั้น “เราต้องเพิ่มกำลังการผลิตยานิวเยล พอการผลิตมันเพิ่มแทงค์น้ำเลยต้องมา” หมอบิ้วด์เล่าว่า โรงงานต้องใช้น้ำแรงดันสูงเพื่อล้างหลอดยา เมื่อออเดอร์จากทั่วประเทศมีมากขึ้น ปริมาณน้ำที่ใช้จึงต้องมากขึ้นและต้องมีแรงดันที่มากขึ้นด้วย

“อากงก็สร้างแท้งคน้ำขึ้นมาเลย รอบแรกสร้างสูง 6 ชั้น แล้วไหนๆ ก็จะสร้างแล้วก็ทำให้มันเป็นตึกเลยละกัน”

แท้งค์น้ำ 6 ชั้น และ 9 ชั้น ที่ภายนอกมองไม่ออกว่าเป็นแท้งค์น้ำ

“แล้วทำไมไม่ใช้ปั๊ม” ครั้งนี้ผมถามออกไป คำตอบที่ได้คือ ปั๊มน้ำสมัยก่อนมีแต่ระบบเปิด – ปิดตามลูกลอย ไม่เหมือนปัจจุบันที่พอเปิดก๊อก / แรงดันน้ำลด แล้วปั๊มจึงทำงาน เป็นอันว่าอาคารสูงๆ ด้านหลังนั่นแหล่ะคือแท้งค์น้ำ ชั้นบนสุดซ่อนถังเก็บน้ำเอาไว้ ส่วนพื้นที่อาคารชั้นถัดลงมาแบ่งให้เป็นห้องพักส่วนตัวของลูกหลาน ไม่ได้มีแค่แท้งค์เดียวด้วยนะครับ ปีถัดๆ มา เมื่อต้องผลิตยาจำนวนมากขึ้น อากงก็ลงทุนสร้างแท้งค์น้ำขึ้นมาอีกอัน ครั้งหลังนี้สูงถึง 9 ชั้น! (ยิ่งสูงแรงดันน้ำยิ่งแรง) และน่าจะสูงที่สุดเท่าที่กฎหมายสมัยนั้นจะอนุญาต

(ซ้าย) สายล่อฟ้าบนยอดตึก 6 ชั้น (ขวา) และมุมมองจากแท้งค์น้ำสูง 6 ชั้น จะเห็นได้ว่าแม้ในปัจจุบันก็ยังคงมีความสูงเกินค่าเฉลี่ยความสูงอาคารอื่นๆ ในซอยสายลม 1

“คนในบ้านเราเรียกกันเล่นๆ ว่า ตึก 6 ชั้น กับตึก 9 ชั้น” หมอบิ้วด์ยังเล่าต่ออีกว่า ตึก 9 ชั้น ของนิวยอร์ค เคมีเกิ้ลมองเห็นได้จากถนนวิภาวดี และไกลไปถึงมองเห็นได้จากแยกสะพานควายเลย! จากคำบอกเล่าคุณป้า (ณัฐพัชญ์ ธนชาญวิศิษฐ์ – รุ่นที่2) ที่เกิดทันตอนที่ตึก 9 ชั้น เพิ่งสร้างเสร็จใหม่ๆ 

หมอบิ้วด์ ออกตัวว่าที่เล่ามาอาจดูตลกๆ แต่ AriAround มองว่า สิ่งนี้ยืนยันถึงการมองการไกลของอากงเป็นอย่างดีอันที่จริงแล้ว อาคารในนิวยอร์ค เคมีเกิ้ล ถูกสร้างขึ้นต่างเวลากัน 3 ช่วงเวลา แต่ละช่วงทิ้งห่างกันก็หลายปี แต่กลับดูกลมกลืนเป็นเรื่องราวเดียวกัน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะทั้งหมดถูกออกแบบโดยสถาปนิกเพียงคนเดียว นั่นคือ แถม ชูชล อีกประเด็นที่ควรบันทึกไว้ตรงนี้คือการคำนึงถึงทัศนียภาพและสภาพแวดล้อมของชุมชนโดยรอบ คงเป็นภาพไม่สวยงามนัก ถ้าหากในซอยสายลม 1 มีแท้งค์น้ำแบบจริงๆ จังๆ อยู่ในซอย ผู้เขียนเชื่อว่าอากง ไชยพงษ์ ธนชาญวิศิษฐ์ ได้คำนึงถึงประเด็นนี้ไว้อย่างรอบคอบ

ภาษาทางการออกแบบอาคาร ที่ทำให้เกิดความกลมกลืนแม้อาคารแต่ละหลังจะสร้างขึ้นในช่วงเวลาที่ต่างกัน

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here