GEPP คือเอกชนที่ลุกขึ้นมาทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่าง “คนทิ้ง” กับ “โรงงานรีไซเคิล” พาเอาขยะจากมือท่านๆ ไปสู่จุดที่ถูกต้อง ก่อตั้งโดย มยุรี อรุณวานนท์ และ โดม บุญญานุรักษ์ หลังจากผ่านไป 3 ปี GEPP มีส่วนในการปรับ mindset ของหลายๆ องค์กรให้ (เริ่ม) หันมาเห็นความสำคัญของการแยกขยะมากขึ้น 

INTERVIEW BY NAPAT CHARITBUTRA, SKIIXXY and FAIYEN BANGKOK
PHOTO COURTESY OF GEPP except as noted

1) เส้นทางการเติบโตของ GEPP

โดม บุญญานุรักษ์ :

เราเริ่มกันง่ายๆ คือ นัดวันเข้าไปเก็บขยะรีไซเคิลจากโรงอาหารบ้าง บ้านคนบ้าง ฯลฯ พอเอาขยะไปขายต่อ เราก็รู้ทันใดเลยว่า โมเดลของ GEPP จะไม่ใช่การหาเงินจากขยะรีไซเคิล เพราะโมเดลการขายขยะสร้างความคุ้มทุนได้ยาก มีความเสี่ยงสูงเพราะตลาดราคาวัสดุรีไซเคิลขึ้นลงสูงมากโดยเฉพาะช่วงที่เราเริ่มนั้น เป็นช่วงที่ราคาวัสดุรีไซเคิลเริ่มลดต่ำลงมาก และเราคิดว่าจะต้องมีมุมอื่นที่ทำได้ถ้าเรานำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยแก้ปัญหาการจัดการขยะ 

ทีนี้คุณมยุรี (มยุรี อรุณวานนท์) เขาเคยทำงานกับองค์กรใหญ่ๆ มาก่อน เราก็เลยพา GEPP ไปในทางนั้น คือขยับบทบาทมาทำเรื่อง ข้อมูล (Data) รวมไปถึงการให้คำปรึกษาในการจัดารขยะให้ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด

2) ที่ปรึกษาด้านการจัดการขยะทำอะไรบ้าง?

เริ่มจากเวิร์คช็อปแยกขยะให้กับคนในองค์กร ว่าต้องแยกอะไร พลาสติกมีกี่ประเภท อันไหนรีไซเคิลได้บ้าง พลาสติกชนิดไหนรีไซเคิลไม่ได้หรือรีไซเคิลได้ยาก ความสะอาดของพลาสติกควรเป็นอย่างไร สร้างความเข้าใจในการคัดแยกวัสดุ ถัดมาก็คือการตั้งจุดทิ้งคัดแยกขยะว่าควรวางแผนการคัดแยกอย่างไรให้เหมาะกับขยะที่สร้างขึ้นในสถานที่นั้นๆ และขั้นตอนที่สำคัญที่สุดก็คือการทำจัดเก็บข้อมูล รวมไปถึงการวิเคราะห์กและการนำข้อมูลมาวางแผนการจัดการขยะให้ดีขึ้น ลดการฝังกลบให้มากที่สุด

สงสัยใช่ไหมครับว่าทำข้อมูลไปทำไม? นี่เป็นจุดที่ creativity เข้ามามีบทบาท เราชั่งน้ำหนักวัสดุรีไซเคิลแต่ละประเภทเพื่อสรุปข้อมูลในแต่ละเดือน / ปี แล้วก็เอาข้อมูลไปให้องค์กรทำรายงานประจำปีที่ชื่อว่า Sustainability Report หรือรายงานการพัฒนาความยั่งยืน อีกอย่างคือ ทางองค์กรก็สบายใจว่ามีการให้ความรู้ในการจัดการคัดแยกวัสดุรีไซเคิล และช่วยให้วัสดุเหล่านั้นได้ไปรีไซเคิล ส่วนทางผู้รับวัสดุรีไซเคิลก็ดีใจเพราะได้วัสดุรีไซเคิลในคุณภาพที่ดีขึ้นและปริมาณที่มากขึ้น เรียกได้ว่าเซอร์วิสของเรามันวินวินกันทุกฝ่าย

แต่ feedback ที่ดีที่สุดคือ เราเห็นความเปลี่ยนแปลงทันที เมื่อทางองค์กรเขาได้ข้อมูลรายเดือนที่โชว์ให้เขาเห็นตลอด สิ่งนี้ทำให้เขารู้ว่าเขาต้องแก้ไขและพัฒนาคุณภาพในการแยกขยะและวัสดุรีไซเคิลขององค์กรตัวเอง


“สังคมเราพูดกันเยอะว่า “คนไทยไม่มีวินัย มันไม่มีทางแยกขยะกันหรอก มันลำบาก ไม่มีเวลาแยกหรอก” แต่จริงๆ แล้ว ไม่ใช่ว่าคนไทยไม่ชอบแยกขยะ เขาแค่ไม่รู้ว่าจะเริ่มยังไงต่างหาก” 


3) เพื่อให้คนทางบ้านเห็นภาพชัดๆ ขึ้น อยากให้เล่า flow ของขยะหน่อย จากมือเรา ลงถัง แล้วขยะไปไหนต่อ?

Credit : AriAround (Faiyen Bangkok)

ที่เห็นอันนี้คือครบลูปเลย และหัวใจสำคัญเลยนะ คือต้องให้ต้นทางแยกวัสดุรีไซเคิลให้ถูกวิธี สะอาด ไม่ชื้น ในความเห็นของเรา ลูปที่ดีไปกว่านี้คือ วัสดุรีไซเคิลที่กลับมาเป็นของได้ ซึ่งเดี๋ยวนี้มีหลายแบรนด์นะที่เขาเอาวัสดุรีไซเคิลกลับมาทำเป็นสิ่งของได้ และต้องเป็นของที่ถูกนำกลับไปรีไซเคิลได้อีก

5) อยากรู้ว่านอกจากทำงานกับองค์กร GEPP จะทำงานกับภาคครัวเรือนบ้างไหม? 

เราได้ทำอยู่ในตอนแรกสำหรับกรุงเทพฯ ซึ่งตอนนี้เราหยุดไป จะมีที่เชียงใหม่เราร่วมมือกับทางเทศบาลนครเมืองเชียงใหม่อยู่  ส่วนในกรุงเทพฯ จะมีคนติดต่อมาทาง inbox ของเพจ GEPP เยอะเหมือนกันนะ ซึ่งเราก็จะช่วยหาทางออกให้โดยการแนะนำช่องทางให้ได้รีไซเคิล

6) แล้วถ้าสโคปมาในพื้นที่อารีย์-ประดิพัทธ์

เรามองว่าพวกเรานี่แหละ (ภาคเอกชน) ที่ถ้าร่วมมือกันแล้วจะทำให้เกิดอะไรขึ้นมาจริงๆ แบบที่จับต้องได้จริงๆ เราคิดว่าอย่างที่ AriAround ทำอยู่ก็ตรงไปตรงมาดี วิธีทีที่ทำให้คนทำดีแล้วได้ดี แล้วก็ร่วมมือกับเอกชนในย่านที่อยากจะสนับสนุนการทำดีได้ดี เราคิดว่านี่เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในเชิงบวก และเป็นย่านตัวอย่าง ที่มุ่งพัฒนาการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง

7) กลับมาที่งานองค์กรสักหน่อย DATA ที่เราเก็บได้มีผลต่อพฤติกรรมของคนในสำนักงานมากน้อยขนาดไหน?

มีผลครับในองค์กร หรือในชุมชน พอคนได้เห็นข้อมูลที่วิเคราะห์ออกมาให้ติดตามผลลัพธ์ที่ช่วยกันคัดแยกวัสดุรีไซเคิล การมีส่วนร่วมในองค์กรก็จะสูงขึ้นได้  เช่น เดือนนี้รีไซเคิลไปได้กี่กิโลกรัม?  ลดการฝังกลบไปได้กี่กิโลกรัม? ลดก๊าซเรือนกระจกไปได้เท่าไร?มันช่วยทำให้ผลจากการคัดแยกขยะและวัสดุรีไซเคิลเป็นการช่วยสิ่งแวดล้อมที่จับต้องได้ และที่สำคัญคือการที่นำข้อมูลมาเป็นเป้าหมายเพื่อกระตุ้นให้เขาทำได้ดีขึ้น รีไซเคิลให้ได้มากขึ้น หรือลดการฝังกลบให้เหลือศูนย์ซึ่งเราสามารถวัดผลได้

สิ่งที่มีการผลักดันกันอย่างน่าสนใจในช่วงที่ผ่านมาคือ การผลักดันให้เกิดระบบ EPR (Extended Producer Responsibility) ในประเทศไทย ซึ่งมันเป็นระบบที่จะช่วยสนับสนุนให้เกิดการเก็บกลับบรรจภัณฑ์ใช้แล้วมากขึ้น

อีกเรื่องที่เราผลักดันอยู่คือการใช้ rPET ซึ่งคือพลาสติก PET ที่ถูกเอาไปรีไซเคิล เริ่มมีการใช้ทำสินค้ามากขึ้น แต่ในประเทศไทยเรายังไม่อนุญาตให้ใช้ rPET กับกลุ่มบรรจุภัณฑ์ที่ใช้บรรจุอาหารและเครื่องดื่ม ถ้าทำได้จะทำให้การใช้ประโยชน์ rPET ก็จะกว้างขึ้นมาก ปัจจุบันมันถูกนำเอามาทำเป็นเส้นใยชนิดต่างๆ รวมไปถึงทำเป็นเสื้อผ้า แต่ปัญหาคือทุกวันนี้เราก็มีปัญหาเรื่อง  Fast Fashion ที่ก็ต้องกลายมาเป็นขยะเมื่อเราทิ้งซึ่งก็เป็นขยะพลาสติกชนิดหนึ่งเช่นเดียวกัน

เราคิดว่า EPR (Extended Producer Responsibility) จะทำให้ผู้ผลิตมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และมันยังจะกระตุ้นให้ผู้ผลิตเข้ามามีส่วนร่วมรับผิดชอบการเก็บกลับบรรจุภัณฑ์ได้มาขึ้นอย่างแน่นอน

8) แล้วในมุมของนักออกแบบที่สามารถออกแบบ visual และเปลี่ยนมุมมองเรื่องความงามสำหรับผู้บริโภคได้ล่ะ เราทำอะไรได้บ้าง

ตัวอย่างที่ชัดเจนมากๆ คือ สไปรท์ขวดใส ชัดเจนเลยว่าเขาเปลี่ยนก่อนเพราะว่าเขารู้ว่าจะช่วยให้รีไซเคิลได้ง่ายขึ้นมาก และทำให้ ระบบ EPR ทำงานได้ดียิ่งขึ้น

9) ก่อนจะจากกัน อยากให้คุณโดมแนะนำเคล็ดลับการแยกขยะที่ถูกต้องสักหน่อยครับ 

พื้นฐานของการแยกขยะคือ การแยกของเหลวและทิ้งเศษอาหาร ขวดน้ำต้องไม่มีน้ำเหลือในขวด ส่วนกล่องอาหารพลาสติกก็ต้องแยกเศษอาหารให้เรียบร้อย ทำความสะอาดไม่ให้มีคราบมัน ไม่อย่างนั้นจะมีปัญหากระทบไปตลอด ตั้งแต่น้ำหนัก ราคาขยะที่ลดลง และกระทบกับการจัดเก็บข้อมูลด้วย ดังนั้นการแยกเศษอาหารออก และไม่มีของเหลวนั้นสำคัญมากที่สุด 

ส่วนฉลาก เราไม่แยกไม่เป็นไร เพราะระบบในโรงงานรีไซเคิลสามารถคัดแยกได้ และปัจจุบันก็มีฉลากที่รีไซเคิลได้มากขึ้น และมันจะถูกเอาไปทำพลังงานได้ต่อไป แต่ถ้าหากเราจะส่งขวดไปทำประโยชน์ให้โครงการใดๆ เราก็จะต้องแยกเพื่อให้โครงการทำงานได้ดีขึ้น


เราคิดว่าสิ่งที่ AriAround ทำอยู่ก็ตรงไปตรงมาดี วิธีที่ทำให้คนเห็นว่าทำดีแล้วได้ดี และก็ร่วมมือกับเอกชนในย่านที่อยากจะสนับสนุนการทำดีได้ดี

— โดม บุญญานุรักษ์, GEPP

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here