ก่อนหน้าที่ วิทิต ชัยสัมฤทธิ์โชค จะเปิดคาเฟ่ SATI Handcraft และเวิร์คช็อปงานไม้ Made Here on Earth ซอยอารีย์สัมพันธ์ เขาเคยเป็นหนึ่งในทีมดีไซน์เนอร์ผู้ออกแบบปั้มน้ำ / แทงค์น้ำ DOS (ที่มีทุกบ้าน) จนได้รางวัล Good Design Award จากญี่ปุ่น และก่อนหน้านั้นไปอีก เขาคือดีไซเนอร์ที่เดินทางไปเรียนด้าน Sustainability Design ที่ Brighton University ที่สหราชอาณาจักร

INTERVIEW BY NAPAT CHARITBUTRA
PHOTO BY NAPAT CHARITBUTRA except as noted

1) จุดเริ่มต้นของ SATI Handcraft

วิทิต ชัยสัมฤทธิ์โชค :

ผมก็เป็นพนักงงานออฟฟิศ ทำงานตอกบัตร คงพอจะนึกภาพออกกันน จนวันนึงมันเริ่มจะล้าจนทนไม่ไหว คือสุขภาพมันแย่มากจนเราป่วยนะครับแล้วผมก็อาจจะลองทำอะไรใหม่ๆ ด้วย เผอิญตอนนั้นไปเจอเพื่อนคนนึงที่เพิ่งออกจากงานประจำ เขาทำปั้นดินตั้งแต่ยุคที่ทุกคนยังไม่ชินกับคำว่าเวิร์คช็อปเลยนะ แล้วเขาก็ชวนผมทำร้านกาแฟ ก็เริ่มง่ายๆ แบบนั้น (…)

น่าจะเป็นปี 2013 ครับ จำได้ว่าผมยังทำงานประจำอยู่ ก็คือเปิดร้านกาแฟวันเสาร์อาทิตย์ที่สตูดิโอของเพื่อนคนนั้น (แถวถนนดินสอ) นอกจากความอินในกาแฟ บทบาทของคาเฟ่ตอนนั้นคือการเป็นกิจกรรมที่คนทั่วไปเข้าถึงได้ง่าย

เพราะว่าเพื่อนปั้นดินใช้ไหมครับ ด้วยความที่มันเฉพาะทางมากๆ จึงจะมีแค่คนกลุ่มนึงที่ก็มีจำนวนไม่มากเท่าไหร่เข้าใจสิ่งนั้น เพื่อจะดึงดูดคนทั่วไปเข้าไปในสเปซ เราเลยต้องการอีกกิจกรรมที่สบายๆ ใครๆ ก็เข้าหาอย่างคาเฟ่ 

พอถึงจุดนึงเราก็ขยายมาเป็นโปรเจ็คต์ที่ซอยอารีย์สัมพันธ์นี่แหล่ะครับ คือผมมองว่าโมเดลนี้มันเวิร์ค คือมีกิจกรรม (คาเฟ่) รันคู่ไปกับธุรกิจบางอย่าง (เวิร์คช็อป) ตอนนี้ก็ทำมา 5 ปีได้แล้วครับ

2) นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไม SATI Handcraft จึงรันควบคู่ไปกับ Made Here on Earth?

ใช่ครับ ด้วยแบ็คกราวน์ของผมที่เป็นดีไซเนอร์ด้วย คีย์เวิร์คือคำว่า Handcraft และมันอยู่ในทุกๆ อณูของที่แห่งนี้

เฟอร์นิเจอร์หลายๆ ชิ้นในร้านเราทำขึ้นเองครับ ก็คือทำที่ Made Here on Earth นั่นแหล่ะ แล้วด้วยความที่เราถนัดทำอุปกรณ์และเฟอร์นิเจอร์สำหรับใช้ในคาเฟ่ ตัว Made Here on Earth จึงมีเซอร์วิสอีกอย่างนั่นคือ การให้คำปรึกษาเรื่องการออกแบบคาเฟ่ 

ผมเข้าใจว่าเจ้าของคาเฟ่หลายๆ คนคงไปช็อปปิ้ง JJ Mall กัน ตอนหาของเข้าร้าน และผมก็รู้ด้วยว่า JJ Mall ไม่ได้มีทุกอย่างที่เขาต้องการหรอก (หัวเราะ) ที่ผมรู้เพราะผมก็เคยรู้สึกแบบนั้นเหมือนกัน ทีนี่ ถ้าอยากได้อุปกรณ์ โต๊ะ เก้าอี้ ที่รองแก้ว หรือเสเปซ ฯลฯ ที่บ่งบอกตัวตนมากกว่านั้น เซอร์วิสของ Made here on Earth ตอบโจทย์นั้นได้เพราะเราสามารถ customize ให้ของในจินตนาการกลายเป็นจริงขึ้นมา

ส่วนคำว่า Handcraft ในคาเฟ่ก็คือ เรามักจะแบ่งพื้นที่เล็กๆ เอาไว้สำหรับงานทดลอง ทำสิ่งที่สงสัย สมัยก่อนตรงนี้เคยขายโยเกิร์ตแล้วมันไม่เวิร์ค เราก็เปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา อย่างตอนนี้คือทำโซดาคราฟท์เองครับ (หัวเราะ)


เวลาเราอยากจะริเริ่มอะไร เราจะทดลองทำมันด้วยตัวเอง เราลงทุนเวลา แนวคิดก็คือ ถึงแม้ว่าจะนาน ยุ่งยาก แต่เราสนุกกับ process นั้น และสนุกยิ่งขึ้นไปอีกเมื่อผลลัพธ์มันดีถึงจุดที่สามารถนำไปขายได้


3) SATI Handcraft ในช่วง lockdown ครั้งที่ผ่านมา

วิทิต ชัยสัมฤทธิ์โชค : กลายเป็นว่า waste จากการผลิตมากกว่าเดิมครับ SATI Handcraft เราทำอาหารส่งโรงพยาบาล 800-900 กล่องต่อวัน สิ่งที่ตามมาคือเหลือกากกาแฟเยอะมากๆ เราก็จัดการโดยการเอาไปทำปุ๋ย / ทำเป็นดินครับ ก็ต้องมีขั้นตอนการเตรียมการ เอาไปตากแห้ง ผสมกับดินให้จุลินทรีย์ดินช่วยย่อยสลายองค์ประกอบบางอย่างในกากกาแฟก่อนจะเอาไปใช้ในต้นไม้

พูดถึงเรื่องปัญหา waste ขึ้นมา ผมว่ามันเป็นเรื่อง perception ของคน ที่มันส่งผลโดยตรงต่อปัญหาโลกร้อนทุกวันนี้ เรา “ตัดสิน” ว่าอะไรที่มันไม่มีประโยชน์กับเรา เราต้องทิ้งมันไป ไม่ว่าการกำจัดนั้นจะทำให้เกิดผลกระทบอะไรต่างๆ นาๆ ตามมาเราไม่สนใจ เพราะ goal ของเราตอนนั้นคือแค่กำจัดมันไป ใช่ไหมล่ะครับ?

Photo Courtesy of SATI Handcraft

มีโปรเจ็คต์นึงที่ผมทำตอนเรียนปริญญาโทด้าน Sustainability Design ที่ University of Brighton มันพูดถึงประเด็นนี้ด้วย “วัชพืช” ครับ

วัชพืชมีเหตุผลในการดำรงอยู่ของมัน เพียงแต่ว่าเหตุผลที่ว่ามันไม่ได้ support ความต้องการของเราๆ เท่านั้นเอง เราเลยมองว่า“แกมันก็คือวัชพืช ฉันต้องกำจัดแก”แต่ถ้าเรามองมันอีกแบบล่ะ?  


คำถามนี้นำมาสู่โปรเจ็คต์การทำ “ปุ๋ยเลี้ยงวัชพืช”


อาจฟังดูแปลกแต่ลองคิดดูดีๆ สิครับ สมมติว่าเราจะปลูกต้นไม้ แทนที่จะราดน้ำยาฆ่าวัชพืช เรามาลองเลี้ยงวัชพืชให้โตกันดีไหม เพราะความจริงแล้วต้นวัชพืชพวกนี้มันอยู่ได้เพราะมันแข็งแรงครับ มันหาอาหารเก่งมาก และเราก็ไปเจองานวิจัยชิ้นนึงที่ให้ข้อมูลว่า ไม่ใช้วัชพืชทุกต้นที่มาแย่งอาหารไปจากต้นไม้ของเรา แต่วัชพืชในกระถางเดียวกันนั้นสื่อสารกับต้นไม้ของเรา และมากกว่านั้นคือมันแลกเปลี่ยนไนโตรเจนซึ่งกันและกันด้วย หรือพูดง่ายๆ ก็คือ แลกเปลี่ยนสารอาหารระหว่างกันและกัน

เราเลยทำแม่พิม์ขึ้นรูปเป็นบล็อค 2 อัน ที่ไปประกบต้นวัชพืช เพื่อยกย่องวัชพืชเหล่านั้นให้เป็นเหมือน “อนุสาวรีย์” เป็นฮี่โร่ ผมอยากเปลี่ยน perception ของคนที่มีต่อวัชพืช แทนที่จะตัดทิ้ง คุณเลี้ยงมันสิ แล้วพอมันโต พืชที่คุณต้องการมันจะดีเอง 

Photo Courtesy of SATI Handcraft

4. ทั้งหมดนี้มันก็โยงกลับมาที่การบริโภคและการทิ้งขยะของคน ?

ใช่ครับ ผมเชื่อว่างานออกแบบเป็นเครื่องมือที่แก้ปัญหาเหล่านี้ ที่มันฝังอยู่ในจิตสำนึกของคนได้ เพราะงานออกแบบมันอยู่รอบตัวเรา และเรามีปฏิสัมพันธ์กับมันทุกวัน (โดยไม่รู้ตัว) 


ผมมองว่ามันคือการฝึกให้คนคิดถึง system คิดถึง “เครือข่าย” ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งนั้นทั้งหมด เช่นว่า เราทิ้งขยะชิ้นนึงไปแล้วมันไปไหนต่อ? คิดสิครับว่าต่อๆ ไป จะมีใครเกี่ยวข้องกับขยะชิ้นนั้นบ้าง? มุมมองแบบนี้จะทำให้เราไม่มองว่า “ขยะ” มัน “ไม่ใช่ขยะ” เลิกคิดแค่ว่าเราจำกัดของเรานั้นให้พ้นๆ ตัวเองไปแค่นี้เสียที


ในอีกมุมนึง สำหรับผมแล้วพลาสติกจึงไม่ใช่ผู้ร้ายเสมอไป สมมติเราจะซื้อกาแฟ แก้ว take away มันก็โอเคนะ ถ้าเรากำลังจะกลับบ้าน พอถึงบ้านแล้วล้างทำความสะอาด ไปใช้ต่อหรือไปแยกทิ้ง ใช้เวลาไม่ถึง 1 นาที เราสามารถช่วยคนอื่นๆ ที่จะเข้ามารับช่วงต่อขยะเหล่านั้นได้มากครับ 

SATI Handcraft

5. อย่างเช่นเอามาแลกเปลี่ยนกับ AriAround ใช่ไหมครับ?

ถูกต้องเลยครับ (หัวเราะ)


เรา (มนุษย์) คิดว่าเรายิ่งใหญ่ แล้วเราก็เอาวิธีคิดแบบนี้แหล่ะ ไปใช้กับทุกๆ เรื่องในชีวิต

— วิทิต ชัยสัมฤทธิ์โชค, SATI Handcraft

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here